ความหมายและวงจรของการนอนหลับ

(ที่มา: https://www.thairath.co.th/media/B6FtNKtgSqRqbnNsUzGkTcIr5Ea0JVK6ppDHqOsgpntw93NHEFQEJdsAP6RN3G6P1HtHO.jpg: Online)

 

          การนอนหลับ (Sleep) หมายถึง ภาวะที่บุคคลมีความรู้สติเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการรับรู้และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมลดลง ขณะหลับถึงแม้ว่าบุคคลจะสูญเสียความรู้สึกตัว แต่ก็สามารถปลุกให้ตื่นได้ด้วยสิ่งเร้าที่เหมาะสม การนอนหลับถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของการพักผ่อน (Rest) ซึ่งการพักผ่อนมีความหมายคือ เป็นภาวะที่บุคคลลดการทำกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อและความคิด ทำให้บุคคลนั้นเกิดความสงบผ่อนคลาย ปราศจากความเครียด และความวิตกกังวล นอกจากการนอนหลับแล้ว การพักผ่อนอาจทำได้หลายวิธี เช่น การอ่านหนังสือ การฟังวิทยุ การชมภาพยนตร์ การเดินเล่นในสวน เป็นต้น

          การนอนหลับที่มีคุณภาพ คือการหลับลึกและหลับสนิท สมองได้พักผ่อนเต็มที่ มีวงจรการหลับที่ปกติ มีช่วงเวลาของการหลับที่เหมาะสมกับอายุ ซึ่งสามารถรับรู้ได้จากความรู้สึกของบุคคลนั้น ซึ่งถ้าตื่นขึ้นในตอนเช้าแล้วรู้สึกสดชื่น สามารถทำงานได้อย่างกระฉับกระเฉง ไม่ง่วงนอนหรือเพลีย ก็แสดงว่า การนอนหลับในคืนนั้นมีการหลับลึกและมีคุณภาพในแต่ละวงจรของการนอนหลับจะมีการเปลี่ยนแปลง 2 ระยะคือ ระยะที่ไม่มีการกลอกของลูกตา (Non rapid eye movement, NREM) และระยะที่มีการกลอกของลูกตา (Rapid eye movement, REM) ดังนี้

1. ระยะที่ไม่มีการกลอกของลูกตา (NREM) แบ่งเป็น

ระดับ 1 (Transition to sleep) เริ่มหลับ กล้ามเนื้อเริ่มผ่อนคลายลูกตาเคลื่อนไหวไปมาช้า ๆ อัตราการหายใจสม่ำเสมอ อัตราชีพจรลดลง ระดับนี้ปลุกตื่นได้ง่าย ถ้าตื่นจะรู้สึกว่ายังไม่ได้หลับ

ระดับ 2 (Light sleep) หลับได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้น การกลอกของลูกตาอาจมี หรือไม่มีก็ได้ ระดับนี้สามารถปลุกตื่นได้ง่ายเช่นกัน ถ้าตื่นจะรู้สึกเหมือนฝันกลางวัน

ระดับ 3 (True sleep) หลับลึก กล้ามเนื้อผ่อนคลายเต็มที่แต่ยังมีความตึงตัว อัตราการหายใจสม่ำเสมอ มีการหลั่ง growth hormone และ serotonin ระดับนี้ปลุกตื่นยาก

ระดับ 4 (Deep Sleep) หลับลึกขึ้น หลับสนิท สมองอยู่ในภาวะพักผ่อนอย่างแท้จริง ชีพจร ความดันโลหิต ปริมาณ ปัสสาวะ รวมถึงการใช้ออกซิเจนของกล้ามเนื้อลดลง มีการหลั่ง growthhormone มากที่สุด อาจพบว่ามีการกรน ระดับนี้ปลุกตื่นยากขึ้น ถ้าตื่นจะจำสิ่งที่ทำไม่ได้

2. ระยะที่มีการกลอกของลูกตา (REM) ในระยะนี้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายจะคลายตัวมากที่สุดจนเกือบไม่มีความตึงตัวเหลืออยู่ แต่จะมีการกลอกของลูกตา ซึ่งจะเร็วบ้าง ช้าบ้าง หรือไม่มีการกลอกเลยชีพจร การหายใจและความดันโลหิตไม่คงที่ มีการหลั่งสารหล่อลื่นมากขึ้นในผู้หญิง และอวัยวะเพศแข็งตัวในผู้ชาย นอกจากนี้มีการหลั่งฮอร์โมน cortisol, glucagon และ catecholamine ในระยะนี้ปลุกตื่นได้ยาก ถ้าตื่นจะจำความฝันได้ ลักษณะความฝันชัดเจนมีสีสัน และเป็นแบบจินตนาการ

     การนอนหลับที่ปกติจะเริ่มตั้งแต่ระดับ 1 ของ NREM ต่อด้วยระดับ 2, 3 และ 4 ของ NREM และกลับมาที่ระดับ 3 และ 2 ของ NREM ก่อนเข้าสู่ระยะ REM แล้วกลับมาที่ระดับ 2 ของ NREM อีกครั้ง และจะดำเนินระยะ NREM และ REM หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ตลอดการนอนหลับ ถ้าตื่นขึ้นในช่วงใดก็ตามจะเริ่มต้นด้วยระดับที่ 1 ของ NREM ทุกครั้ง 


     ในวงจรการนอนหลับแรก ๆ จะพบระดับ 3 และ 4 ของ NREM มากกว่า REM เมื่อการนอนหลับดำเนินต่อไป จะพบระดับ 1 และ 2 ของ NREM และระยะ REM มากขึ้น สวนระดับ 3 และ 4 ของ NREM จะลดลง โดยเฉลี่ยระยะ NREM คิดเป็นร้อยละ 75-80 ของการนอนหลับในเด็กวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ ส่วนเด็กทารกจะพบระยะ NREM เท่ากับระยะ REM ในการหลับแต่ละครั้งเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมง จะมีวงจรการหลับประมาณ 4-6 วงจร ใช้เวลาประมาณ 70-90 นาที โดยในช่วง NREM ระดับ 1-3 ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ระดับ 4 ของ NREM ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นใช้เวลาในระดับ 3 และ 2 ของ NREM ประมาณ 20 นาที ส่วนระยะ REM ใช้เวลาประมาณ 10 นาที

 

(ที่มา: http://www.nurse.nu.ac.th/Journal/data/Vol.1%20No.2/004.pdf :Online)