องค์ประกอบของที่นอน

ระบบการรองรับน้ำหนัก (Support system)

     ระบบการรองรับน้ำหนัก หรือ Support system เป็นหัวใจสำคัญหลักของที่นอนแต่ละประเภท หากเปรียบเทียบก็เสมือนว่าชั้นนี้คือแกนกลาง อันเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการรองรับน้ำหนักของร่างกาย เมื่อวางเรือนร่างลงบนที่นอน รวมถึงมีองค์ความรู้ในการผลิตที่ช่วยในการกระจายน้ำหนักของผู้นอน ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อความรู้สึกผ่อนคลายขณะหลับ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนทีเป็นสปริง (Spring) และส่วนที่ไม่ใช่สปริง (Non spring)

ส่วนที่เป็นสปริง (Spring)

Bonnel spring

     เป็นระบบสปริงประเภทหนึ่งที่ถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานในชั้นระบบการรองรับน้ำหนักของที่นอน (Support system) ซึ่งมีลักษณะเป็นสปริงลูกอิสระ แต่จะถูกเชื่อมแต่ละลูกเข้าเป็นเครือข่ายเดียวกันด้วยลวด เพื่อช่วยในการรองรับน้ำหนัก ข้อดีของที่นอนที่ใช้ระบบสปริงประเภทนี้คือ ที่นอนจะมีความหนาและสูงกว่าที่นอนประเภทอื่นเล็กน้อย ความที่เป็นระบบสปริงแบบบาง จึงเหมาะกับการผลิตที่นอนบางประเภท

Pocket spring 

     เป็นระบบสปริงอีกประเภทหนึ่งที่ถูกใช้ในชั้นระบบการรองรับน้ำหนักของที่นอน (Support system) ซึ่งมีลักษณะเป็นสปริงลูกอิสระ เรียงตัวกันอยู่บนผ้าสปันบอล ไม่มีลวดหรือเหล็กผูกติดกันอยู่ เมื่อสปริงได้รับแรงกด  แรงจะถูกกดบนสปริงแต่ละตัวอย่างอิสระ เพื่อช่วยในการรองรับน้ำหนัก 

ส่วนที่ไม่ใช่สปริง (Non spring)

     โฟม (Foam) ในชั้นระบบการรองรับน้ำหนัก (Support system) ที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตที่นอน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปโฟมอัด ข้อดีของการใช้วัสดุชนิดนี้ในชั้นสำคัญของที่นอนนี้ ก็คือ ความหนาแน่นของวัสดุจะส่งผลดีต่อความทนทานของที่นอนด้วยส่วนหนึ่ง ปัจจุบันที่นอนหลายประเภทยังคงเลือกใช้โฟมเพื่อรองรับน้ำหนัก รวมถึงช่วยกระจายน้ำหนักของร่างกาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโจทย์ความต้องการในการผลิตที่นอนในแต่ละประเภทเป็นสำคัญ โฟมประเภทต่าง ๆ


(ที่มา: https://slumberland.co.th/th/product-page: Online)

ชั้นวัสดุสร้างความสบาย ปรับสมดุลการรองรับและกระจายน้ำหนัก (Comfort layer)

         

 

 

Comfort layer

     เป็นชั้นที่อยู่ถัดจากชั้นระบบการรองรับน้ำหนัก (Support system : Spring & Non spring) ชั้นนี้เป็นอีกชั้นที่มีความสำคัญต่อความรู้สึกสบายขณะวางร่างกายลงบนที่นอน รวมถึงเมื่อหลับใหล เนื่องจากเป็นชั้นที่อยู่ใกล้กับร่างกายของผู้นอนมากขึ้น และเป็นชั้นที่ช่วยรับน้ำหนักของร่างกายก่อนจะลงลึกไปถึงชั้นที่เป็นระบบการรองรับน้ำหนัก (Support system : Spring & Non spring) โดยทั่วไปแล้ว ในชั้นนี้จะเลือกใช้วัสดุในการผลิตที่พิถีพิถันและเหมาะสมกับที่นอนแต่ละประเภท ซึ่งออกแบบตามโจทย์ความต้องเฉพาะของผู้ใช้ในแต่ละกลุ่ม โดยวัสดุที่ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตที่นอนเลือกใช้สำหรับชั้นนี้ อาทิ Latex, Memory foam, Polyurethane foam, Miracle foam เป็นต้น ขึ้นอยู่กับประเภทของที่นอนเป็นสำคัญ

ชั้นห่อหุ้มและผิวสัมผัส (Body touching top)

     ชั้นห่อหุ้มและผิวสัมผัสคือชั้นบนสุดที่มองเห็นด้วยสายตา และเป็นชั้นสุดท้ายของที่นอนที่อยู่แนบชิดจนแทบสัมผัสกับพื้นผิวของร่างกายมากที่สุด ความสำคัญของชั้นนี้มีมากกว่าแค่ความสวยงาม เนื่องจากเป็นชั้นที่ต้องสัมผัสโดยตรงกับตัวของผู้นอน ด้วยเหตุนี้ในชั้นห่อหุ้มและผิวสัมผัสจึงเป็นอีกชั้นหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตที่นอนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ความพิถีพิถันอย่างหนึ่งคือการเลือกใช้วัสดุพิเศษสำหรับชั้นนี้ ซึ่งหนึ่งในวัสดุแสนพิเศษและทรงคุณค่าอย่างมาก คือ การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติในการป้องกันไรฝุ่น หรือเคลือบสาร Anti-Mite เพื่อปกป้องที่นอนจากไรฝุ่น เชื้อรา และแบคทีเรีย ช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ 


(ที่มา:https://previews.123rf.com/images/lim_atos/lim_atos1707/lim_atos170700014/82414618-internal-view-of-mattress-structure.jpg: Online)